“การดื้อยาปฏิชีวนะ มักถูกเรียกว่า เป็นการระบาดใหญ่แบบเงียบ (silent pandemic)”
“ภายในปี 2050 โรคติดเชื้อจากเชื้อดื้อยาที่รักษาไม่ได้ จะมากกว่ามะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุอันดับสองของ การตายในโลกนี้”
สองประโยคด้านบนยกมาจากที่ประชุมอียู (European Union) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้
แม้คุณแดงจะบอกดิฉันว่าบทความขอเฟรนด์ลี่ แต่ชินนี่ว่า สำหรับเรื่องดื้อยานั้นต้องกระตุกกันแรง ๆ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ค่ะ
ก่อนจะพูดถึงการดื้อยา ขอพูดถึงยาปฏิชีวนะก่อนค่ะ ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่ออเล็กซานเดอร์ เฟล็มมิ่ง (Alexander Fleming) เมื่อเกือบร้อยปีก่อน การค้นพบนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการปฏิวัติทางการแพทย์ครั้งสำคัญ แต่เป็นการค้นพบโดยบังเอิญค่ะคุณ

ปี 1928 ขณะอเล็กซานเดอร์เข้าห้องแล็ปไปเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียตามปกติ นางพบว่าเชื้อที่นางเลี้ยงตายค่ะ ตายเพราะมีสารเคมีที่ผลิตโดยราชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นดิฉันคงโยนจานเพาะเชื้อนั้นทิ้งอะค่ะ แต่นางเอาไปศึกษาต่อ และพัฒนาเชื้อรานั้นให้เป็นยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ และตั้งชื่อว่า Penicillin (เพนิซิลิน)
กว่าเราจะผลิตยาฆ่าเชื้อได้เยอะ ๆ ก็ช่วงปี 1940 แล้วค่ะ ถ้าลองไล่เวลาดูดี ๆ ปี 1940 ซ้อนกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และแน่นอนปฏิชีวนะเปรียบเสมือนยาช่วยชีวิตของเหล่าทหารที่บาดเจ็บ
ส่วนในประเทศไทยโรคติดเชื้อที่พบบ่อยและต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วยก็มีโรคปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
ปัจจุบันยาปฏิชีวนะถูกท้าทายอย่างมาก หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า การดื้อยาปฏิชีวนะ (antibiotic resistance) แล้วเชื้อโรคมันดื้อยาได้อย่างไรล่ะ เชื้อโรคใช้วิธีมากมายในการดื้อยา เช่น การปั๊มยาปฏิชีวนะออกจากเซลล์ของมัน ทำให้ยาเข้าตัวเชื้อไม่ได้ หรือกระทั่งเชื้อโรคสร้างสารเคมีมาทำลายยาปฏิชีวนะ
ความสามารถเหล่านี้ของเชื้อนั้นส่วนหนึ่งมาจากสารพันธุกรรมคะ การดื้อยาของเชื้อโรคคือวิวัฒนการอย่างหนึ่ง คือสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ล้วนมีวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด มันต้องรอดจากสิ่งที่มาทำลายมัน ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรีย ภายในเวลาแค่ 20-60 นาที แบคทีเรียสามารถแบ่งตัวจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนี่งได้ทันที

การวิวัฒนาการบางครั้งทำให้แบคทีเรียมีพันธุกรรมที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะได้ นี่แหละค่ะคือเหตุผลว่าทำไมยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะเชื้อโรคยิ่งดื้อยา
เพราะเรากำลังสร้างสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยยาปฏิชีวนะให้แบคทีเรียได้มีวิวัฒนาการเพื่อต่อต้านยาเหล่านั้น ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ แบคทีเรียมันยังคุยกันได้ด้วยค่ะ เมื่อตัวหนึ่งมีพันธุกรรมดื้อยา ก็จะถ่ายทอดความสามารถนั้นไปให้ตัวอื่นๆ ด้วย
เคยเห็นข่าวคนเสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระแสเลือดไหมคะ สงสัยไหมคะว่า ทำไมไม่มียารักษา คำตอบคือยาปฏิชีวนะที่มีมันใช้ไม่ได้แล้วค่ะ เพราะเชื้อมันดื้อยาหมดแล้ว ทำให้มีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า ภายในปี 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อโรคดื้อยา 10 ล้านคนต่อปี ย้ำนะคะ ต่อปี
แล้วเราจะมีทางออกกับเรื่องนี้มั้ย คำตอบคือ ยังพอมีค่ะ อย่างเดนมาร์ก ประเทศที่ชินนี่ทำงานวิจัยอยู่ จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์มาตั้งแต่ปี 1995 และก็เป็นประเทศแรกในยุโรปที่เริ่มแบนการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์

สงสัยใช่ไหมคะว่า การลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร มันคือคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่าวันเฮลท์ (One Health) ซึ่งคือการดูแลให้สุขภาพของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมดีเท่ากันหมด เมื่อสัตว์สุขภาพดี ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในมนุษย์ด้วย
เมื่อควบคุมดูแลสัตว์แล้ว เดนมาร์กและหลายประเทศในยุโรปก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้คนซื้อยาปฏิชีวนะเองตามร้านขายยา จะซื้อได้เมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้เดนมาร์กยังมีระบบเฝ้าระวังที่คอยติดตามตรวจสอบว่า แต่ละปี เรามีคนและสัตว์ติดเชื้ออะไร ดื้อยาเท่าไหร่ อย่างไร ทั้งหมดนี้ทำได้เพราะทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรทางอาหาร และองค์กรทางปศุสัตว์ร่วมมือกัน แชร์ข้อมูลกันค่ะ
นอกจากนี้เดนมาร์กยังมีระบบเฝ้าระวังที่คอยติดตามตรวจสอบว่า แต่ละปี เรามีคนและสัตว์ติดเชื้ออะไร ดื้อยาเท่าไหร่ อย่างไร ทั้งหมดนี้ทำได้เพราะทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรทางอาหาร และองค์กรทางปศุสัตว์ร่วมมือกัน แชร์ข้อมูลกันค่ะ
เวลาเหลือไม่มาก ประเทศไทยของเราต้องรีบแล้วนะคะ
ผลงานที่ผ่านมาของพี่ชินนี่