ก่อนแยกวิทย์-ศิลป์ มันต้องกลิ้งมาก่อน
อ่านแล้ว ครั้ง

หลังจากปิดเทอมใหญ่จบแล้ว น้องป้องนอกจากจะต้องไปตัดรากไทรทิ้ง ยังต้องเลือกแผนการเรียนด้วย คนอย่างน้องป้องน่ะเหรอมันคงเลือกสายศิลป์ ส่วนทิดต่อวัน ๆ เข้าแต่ห้องสมุด มันคงไปต่อสายวิทย์ 

การเลือกแผนการเรียนเป็นปัญหาโลกแตกของนักเรียนไทย จะไปวิทย์หรือไปศิลป์ ต้องเลือก แต่การที่ทิดต่อเก่งเลข เขาจำเป็นต้องสนใจฟิสิกส์ด้วยไหม ถ้าน้องป้องชอบภาษาอังกฤษ เธอต้องตัดใจจากตารางธาตุด้วยเหรอ

แต่สมัยก่อนไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ 

เวลาเราอ่านงานโลกยุคโบราณ นักปราชญ์สามารถหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาพูดก็ได้ อริสโตเติล (Aristotle) อาจพูดถึงทฤษฎีการเมืองวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ข้ามไปพูดเรื่องสปีชีส์ของนกหรือปลาก็ไม่ประหลาด

อย่างยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ดาวินชี่ (Leonardo da Vinci) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเมื่อพูดถึงบุคคลที่มีความสามารถทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางศิลปะ ใครไม่คุ้นชื่อนี้ ลองเปิดฟัง  PYMK EP21 ดาวินชี อัจฉริยบุคคลแห่งยุคเรอเนซองส์ ได้นะคะ

เวลาไปมิลาน เราไปดูภาพวาดอาหารมื้อสุดท้าย (L’Ultima Cena) ของดาวินชี่ที่โบสถ์ซานตา มาเรีย เดลเล กราเซีย (Santa Maria delle Grazie) เราก็ว่าจิตกรคนนี้เลิศว่ะ พอผัวลากไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เราก็แอบเห็นซุ้มเล็ก ๆ เกี่ยวกับงานประดิษฐ์ของเขา เช่น ชุดโดดร่ม ชุดดำน้ำ ฯลฯ

ฝั่งฝรั่งเศสมีเรอเน่ เดส์การ์ตส์ (René Descartes) บิดาของปรัชญาสมัยใหม่ เจ้าของวลีเด็ด “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” เขียนบทความบทเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้า แต่ความเปรี้ยวคือเขาใช้หลักคณิตศาสตร์และการใช้เหตุผลมาพิสูจน์ ความลื่นล้มทางวิชาการแบบนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นในยุคนี้แน่ ๆ

นึกถึงหมอพรทิพย์เขียนหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ว่าด้วยตำราอาหารจากเครื่องใน และเอาไปตั้งไว้ใกล้ ๆ กับหนังสือสืบจากศพ คนอ่านก็คงมีงงเล็ก ๆ นะ

แต่คำถามสำคัญคือ แล้วการแบ่งวิทย์-ศิลป์มันเริ่มตอนไหน?

ในปี 1635 ประเทศฝรั่งเศสก่อตั้งราชบัณฑิตสภาขึ้น โดยมีพันธกิจหลักคือ “สร้างกฎให้กับภาษาฝรั่งเศส ทำให้ภาษาบริสุทธิ์และสวยงาม อีกทั้งทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงศิลปะและวิทยาศาสตร์” จะเห็นว่าความสนใจในยุคแรก ๆ ยังเน้นไปที่ตัวภาษามากกว่า คือเขามองว่า ถ้าเราไม่เข้าใจความรู้ใดความรู้หนึ่ง ปัญหาอยู่ที่ภาษาไม่ใช่ความถนัด

พอถึงปลายศตวรรษที่ 17 คนกำลังคลั่งลัทธิประสบการณ์นิยม (Empiricism) ซึ่งนำทัพโดยนิวตัน (Isaac newton) ผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วงจากการสังเกตแอปเปิ้ลร่วงจากต้น กระแสวิทยาศาสตร์บูมมากจนมีการจัดตั้งราชบัณฑิตยสภาสาขาวิทยาศาสตร์ในปี 1666 ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกนั่นแหละ คราวนี้มีการระบุขอบเขตองค์ความรู้ ซึ่งรวบคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ กายวิภาค พฤกษศาสตร์ และ เคมีเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นก้าวแรกของการจัดหมวดหมู่ความรู้ 

ต่อมาในศตวรรษที่ 18 ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) นักปรัชญาอย่าง เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot) มีโครงการทำสารานุกรมที่รวมความรู้ทั้งหมด ในสารานุกรมมีการแบ่งหมวดหมู่ความรู้ แต่ก็มีหลายบทที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องกลไกลและเครื่องจักรปนเปไปกับเนื้อหาเรื่องการเมืองและศาสนา 

แต่จุดแตกหักแบบกู่ไม่กลับคงจะมาเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ตอนปลาย เกิดแนวคิดที่เรียกว่า ปฏิฐานนิยม (Positivism)  ซึ่งเชื่อว่า ทุกปรากฏการณ์ต้องมีสาเหตุ และสามารถวัดและประเมินได้ คำพูดที่เราติดปากเช่น “ วิทยาศาสตร์ก็ต้องพิสูจน์ได้สิ” เป็นผลพวงมาจากแนวคิดนี้นี่เอง

มนุษย์เริ่มจากเข้าใจโลกผ่านคำอธิบายแบบเทววิทยา เช่น เทพปกรณัม ที่ถูกแต่งขึ้นมาอธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าฟ้าผ่าเป็นเพราะซูสโกรธ ถ้าแผ่นดินไหวเพราะปลาอานนท์ผลิกตัว แต่ถ้าแผ่นดินทรุดเป็นเพราะเธออยู่พระรามสอง

ต่อมาพวกปฏิฐานนิยมมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรง แนวคิดแบบ “ปรากฏการณ์ต้องมีสาเหตุ และสามารถวัดและประเมินได้” ทำให้สิ่งอื่นที่หาสาเหตุไม่ได้ วัดและประเมินไม่ได้ ไม่ถูกนับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการสร้างมณฑลความรู้ในหมวดวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์ 

มาถึงตรงนี้พอจะได้ไอเดียคร่าว ๆ หรือยังคะว่า วิทย์-ศิลป์แยกออกจากกันตอนไหน เอาเป็นว่าวันนี้เมาท์มอยกันพอเท่านี้ก่อนนะคะ สุดท้ายแล้วจะสายวิทย์หรือสายศิลป์ แต่ที่แน่ๆในหน้าเราอัดแน่นด้วยวิทยาศาสตร์ไม่น้อยทีเดียว

สวัสดีค่ะ

ผลงานที่ผ่านมาของเจ๊ป้อง

PYMK EP3 ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์
ไกลบ้าน EP59 เลิกงานคือเลิกงาน นายจ้างไม่มีสิทธิ์โทรหา

รับรหัสชาวช่อง

มีใบมั้ย? เธออยากเป็นชาวช่องแบบมีใบมั้ย?

รับรหัสชาวช่องแบบออฟฟิเชียลได้แล้ววันนี้
มีใบก่อน รันเลขก่อน ได้สิทธิพิเศษก่อน

เรามีสมาชิกแล้ว ... คน

เรื่องเด่นเป็นดาว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไกลบ้าน
Science & Technology
ไปเรียน ไปสร้าง
Art & Culture
สวยด้วยนะ งามด้วยนะ มีสาระด้วย