แล้วใครทำข้าวเย็นให้อดัม สมิธ?
อ่านแล้ว ครั้ง

อดัม สมิธได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ ได้รับการยกย่องจากนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ แขนงว่าเป็นต้นแบบความคิดที่ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดมากมายจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงเขา เราคงไม่ได้มานั่งคิดกันเท่าไหร่หรอกว่าใครเป็นคนดูแล ทำอาหาร จัดการงานบ้านให้อดัม สมิธ

หากใครได้ฟัง PYMK EP73 ไปแล้ว ก็คงรู้คำตอบว่า คนคนนั้นคือมาร์กาเร็ต ดักลาส (Margeret Douglas) หรือแม่ของเขานั่นเอง แล้วทำไมเราต้องสนใจด้วยว่าใครมาทำกับข้าวให้อดัม สมิธกิน คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่แม่ของอดัม สมิธเป็นใครหรือทำเมนูอะไรพิเศษมากมาย แต่อยู่ที่แม่ของอดัม สมิธเป็นภาพแทนของแนวคิดอะไรต่างหาก 

Who Cooked Adam Smith’s Dinner เป็นชื่อหนังสือจริงๆ ที่เขียนโดยเคทริน มาร์ชาล (Katrine Marçal) นักเขียนชาวสวีเดน หนังสือนี้มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการมองข้าม “งานการดูแล” และ “งานบ้าน” ที่ผู้หญิงทำและไม่ได้มองว่าสิ่งนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งที่จริงๆ แล้ว งานการดูแลหรืองานบ้านเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดบ้าน ถูบ้าน ปัดฝุ่น ล้างจาน ซักผ้า ทำอาหาร ดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุ ซื้อของเข้าบ้าน จัดการค่าใช้จ่าย และอื่นๆ อีกมากมาย มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่างานประจำที่ได้เงินเดือนหรืองานรับจ้างเลย

คุณเคทริน จึงบอกว่าในขณะที่เรายกย่องอดัม สมิธ ว่าเป็นต้นแบบของความรู้มากมาย คนที่คอยดูแลอดัม สมิธก็มีความสำคัญเช่นกัน หนังสือเล่มนี้มีสาระสำคัญอีกหลายเรื่อง ใครสนใจสามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ แต่ในวันนี้ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่มีครอบครัวและเป็นภรรยาของนักเศรษฐศาสตร์ ขอนำประเด็นเรื่องงานการดูแลนี้มาขยายต่อค่ะ

ขอเริ่มจากการเล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่ง สามีมีนามสมมุติว่า และภรรยามีนามสมมุติว่า (สมมุติจริงๆ ค่ะ)  ทุกๆเช้า คุณ ณ จะทำน้ำผักปั่นกินโดยใส่ลูกเดือยแช่แข็งลงไปด้วยเพื่อให้อิ่มท้อง วันหนึ่งคุณ ณ เห็นว่าลูกเดือยแช่แข็งในตู้เย็นหมด คุณ ณ จึงออกไปซื้อที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้าน แต่เดินหาหลายรอบแล้วก็ไม่เจอ ถามหาจากพนักงานร้านก็บอกว่า ไม่เคยเห็นลูกเดือยแช่แข็งขายเลย

คุณ ณ กลับมาบ้านและมาบ่นให้คุณ อ ภรรยาฟัง จึงเพิ่งได้รู้ว่าลูกเดือยที่ตนเองหยิบใส่น้ำปั่นทุกวัน กว่ามันจะมาเป็นลูกเดือยแช่แข็งขนาดเท่าก้อนน้ำแข็งพอดีคำนั้น คุณ อ ได้ทำการ

  1. แช่ลูกเดือย 1 คืน
  2. ต้มลูกเดือยจนเปื่อยอยู่ 2 ชั่วโมง รอให้เย็น
  3. นำมาใส่พิมพ์ แช่แข็งอีก 1 คืน
  4. แกะออกมาจากพิมพ์ และใส่กล่องไว้ให้คุณ ณ หยิบใส่เครื่องปั่น

จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าของสำเร็จรูปที่คุณ ณ ได้บริโภค ผ่านการใช้แรงงานและเวลาของคุณ อ ประมาณ 1 วันกว่าจะได้มาเป็นของที่คุณ ณ หยิบใช้ได้ง่าย หากสิ่งนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ราคาของสินค้าที่คุณ ณ จ่ายคงได้รวมค่าจ้างแรงงานที่ทำลูกเดือยแช่แข็งนี้ไปแล้ว แต่แรงงานของคุณ อ กลับไม่ได้ค่าตอบแทนในแบบที่แรงงานปกติคงจะได้รับหากผลิตสินค้าลักษณะนี้

นักเศรษฐศาสตร์เรียกงานลักษณะนี้ว่า Unpaid Care Work หรืองานการดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่เราทำให้แก่สมาชิกในครัวเรือน งานการดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างเหล่านี้ แต่ละบ้านคงมีการแบ่งสันปันส่วนคนทำที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเรามองในภาพรวมจากสถิติที่เห็นและเก็บรวบรวมได้ คนที่ทำงานแบบนี้หลัก ๆ ก็จะเป็นผู้หญิงในครัวเรือนนั้นๆ นั่นเอง

จากสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้หญิงทำงานการดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 76.2% ของปริมาณงานทั้งหมดในครัวเรือน ซึ่งมากกว่าผู้ชายกว่า 3 เท่า 

งานเหล่านี้ใช้ทั้งพลังกายและพลังใจของผู้ทำงานเป็นอย่างมาก แต่มักถูกด้อยค่าว่าไม่สำคัญเพราะไม่สามารถสร้างให้เกิดรายได้หรือเม็ดเงิน และยังไม่ได้รับการคำนวณรวมอยู่ในผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศด้วย

มีการคาดการณ์ว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากนับรวมงานการดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างของผู้หญิงรวมเข้าไปใน GDP จะทำให้ GDP ของภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลย (UNESCAP, 2021) นอกจากนี้งานการดูแลเหล่านี้ยังมีความสำคัญมากเพราะ

เป็นงานที่สร้างเสริมสุขภาวะของคนในครัวเรือนทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ 

เป็นงานที่สร้างเสริมสายสัมพันธ์ทางสังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของครอบครัว 

เป็นงานที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจทางอ้อม เพราะเอื้อให้คนในครอบครัวคนอื่น ๆ สามารถออกไปเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจได้

เป็นงานที่ช่วยให้ครัวเรือนสามารถประหยัดเงินในการจ้างแม่บ้านหรือผู้ดูแล

การมองข้ามงานเหล่านี้ว่าไม่มีความสำคัญ นำมาสู่ปัญหาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการขาดโอกาสในการก้าวหน้าทางการงาน การเข้าถึงการศึกษา สุขภาพและสุขภาวะ การสร้างและตอกย้ำภาพเหมารวมทางเพศ (Gender Stereotype) และการลดทอนคุณค่าในตัวบุคคล เป็นต้น

แม้แต่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ยังพิจารณาว่างานลักษณะนี้มีความสำคัญมาก จนนำไปบรรจุเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ข้อที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเขียนเป้าประสงค์ย่อยอันหนึ่งว่า เราต้อง

“ยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้ และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัวตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ” 

ดังนั้น ในฐานะแม่และภรรยาคนหนึ่ง อยากบอกให้เหล่าพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเต็มเวลา พ่อแม่ที่เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านเต็มตัว ลูกหลานที่ต้องดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่สูงอายุหรือเจ็บป่วย หรือใครก็ตามที่กำลังทำหน้าที่ “ผู้ให้การดูแล” ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเหล่านี้อยู่ จงภูมิใจในตัวเองและอย่าด้อยค่าตัวเองเด็ดขาดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่มีคุณค่า

คุณค่าของสิ่งที่เราทำมันไม่ได้วัดออกมาเป็นตัวเงิน แต่มันแสดงออกมาในรูปแบบของความเป็นอยู่ที่ดีและความผาสุกของสมาชิกในครอบครัวเราทุกคนต่างๆหาก

ในฐานะคนที่เถียงชนะสามีผู้เป็นนักเศรษฐศาสตร์มาแล้วด้วยข้อมูลที่ได้กล่าวไปในบทความนี้ ขอให้ทุกคนภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำคืองานค่ะ มันมีค่าและมีเกียรติไม่แพ้งานของคนอื่นเลย 

แหล่งข้อมูล

International Labour Organization (2018). Care work and care jobs for the future of decent work. ILO .

https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—dgreports/—dcomm/—publ/documents/publication/wcms_633135.pdf

United Nations Economics and Social Commission for Asia and the Pacific (2021). Covid and the unpaid care economy in Asia and the Pacific.

https://www.unescap.org/sites/default/d8files/knowledge-products/2021_Regional_Report_Covid19-Care-Economy.pdf

รับรหัสชาวช่อง

มีใบมั้ย? เธออยากเป็นชาวช่องแบบมีใบมั้ย?

รับรหัสชาวช่องแบบออฟฟิเชียลได้แล้ววันนี้
มีใบก่อน รันเลขก่อน ได้สิทธิพิเศษก่อน

เรามีสมาชิกแล้ว ... คน

เรื่องเด่นเป็นดาว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใหม่ล่า
บทความใหม่ล่าสุด
People & Society
ผู้คนและสังคม
Money & Business
กินหรู อยู่สบาย เลือกใช้ของแบรนด์เนม สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สะสมอัญมณีเพชรพลอย
People You May Know