ถอดรหัส ธงสีรุ้ง
อ่านแล้ว ครั้ง

ย่างเข้าเดือนมิถุนายน บรรยากาศเมืองซานฟราน (San Francisco) ก็คึกคักขึ้นมาอย่างสัมผัสได้  ธงสีรุ้งปลิวไสว เพิ่มสีสันให้กับเมืองอย่างน่าประหลาด  แน่นอนเดือนนี้คือเดือนไพรด์เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศของอเมริกาและทั่วโลก แต่ว่าทำไมต้องฉลองเดือนนี้ล่ะ ขอเท้าความก่อนเล็กน้อย

หลายคนอาจสงสัยว่า (ไม่ฉันไม่สงสัย) (เดี๋ยวสงสัยเถอะแก จะได้เขียนต่อได้) ทำไมต้องเป็นเดือนนี้  มันเป็นเดือนที่มีวันพระใหญ่เหรอ หรือเป็นเดือนที่เราจะเห็นพระอาทิตย์ดวงที่สองโผล่ขึ้นมาอเมริกา คำตอบคือไม่ใช่สิ  จะบ้าเหรอ 

จริงๆ แล้วเดือนนี้มีความสำคัญต่อกลุ่ม LGBTQ+ เพราะหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQ + เกิดขึ้นในเดือนนี้  เป็นเหตุการณ์ตำรวจล้อมจับ และมีการสู้กลับด้วย (แบบเพลงฉันก็สู้คนของนิโคล เทริโอ) เกิดที่สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) ในนครนิวยอร์ก

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในอเมริกา และส่งผลให้เกิดการเรียกร้องประเด็นอื่นๆ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  เดือนนี้จึงถูกสถาปนาให้เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ เพื่อย้ำเตือนให้เห็นการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ นั่นเอง 

แล้วธงสีรุ้งมาเกี่ยวอะไร

จริงๆ ธงสีรุ้ง ที่เห็นโบกสะบัดเฉิดฉายเป็นแถบสีต่างๆ นั้นมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 เพื่อฉลองงานวัน  San Francisco Gay Freedom day  ธงเวอร์ชั่นนี้เป็นธงที่รู้จักโดยทั่วไปว่า เป็นสัญลักษณ์ของงานไพรด์ แต่เวลาเปลี่ยนสังคมเปลี่ยนนะคะ (หน้าเรายังเปลี่ยนทุกสามเดือนเลยค่ะ) ความหลากหลายทางเพศนับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น  ธงสีรุ้งแบบเดิมดูจะนำเสนอความหลากหลายไม่พอแล้ว

กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มข้ามเพศ กลุ่มเลสเบียนก็มีธงของตัวเอง  ดังนั้นจึงมีการพยายามสร้างธงอีกแบบเพื่อนำเสนอความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น นี่เป็นต้นกำเนิดของธงที่เรียกว่า progress pride flag ซึ่งรวมสีขาวฟ้าของกลุ่มข้ามเพศเข้าไป และเพิ่มสีน้ำตาลและดำเพื่อรวมกลุ่มชายขอบอย่างเกย์ผิวดำ ลาติน หรือเอเชียเข้าไปด้วย 

แน่นอนว่า ธงโพรเกรสไพรด์แม้จะเพิ่มสีแล้วก็ยังไม่สามารถนำเสนอมิติต่าง ๆ ของกลุ่ม LGBTQ+ ได้ครบ แต่อย่างน้อยก็นับเป็นความพยายามที่จะรวมทุกอัตลักษณ์ไว้โดยไม่เหมารวม เป็นการรวมกันแต่ยังคงเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มไว้ดังเดิม  

การปรับเปลี่ยนธงสีรุ้งแสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลทางเพศที่ไม่ได้อยู่กับที่หรือแช่แข็ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม และที่สำคัญธงสีรุ้งซึ่งแสดงถึงไพรด์หรือความภาคภูมิใจ ยังแฝงการย้ำเตือนให้เราไม่ลืมความละอาย ความเจ็บปวด และบาดแผลที่กลุ่ม LGBTQ+ ประสบมา ให้เราไม่ลืมการต่อสู้ที่เปลี่ยนความเจ็บปวดมาเป็นความภาคภูมิใจในปัจจุบัน

ผลงานที่ผ่านมาของพี่เต้ไข่

ไกลบ้าน EP6 ซานฟรานซิสโก เมืองหลวงของ LGBTQ
ไกลบ้าน EP70 ภารกิจเก็บเชอรี่ให้ได้สามปอนด์

รับรหัสชาวช่อง

มีใบมั้ย? เธออยากเป็นชาวช่องแบบมีใบมั้ย?

รับรหัสชาวช่องแบบออฟฟิเชียลได้แล้ววันนี้
มีใบก่อน รันเลขก่อน ได้สิทธิพิเศษก่อน

เรามีสมาชิกแล้ว ... คน

เรื่องเด่นเป็นดาว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไกลบ้าน
People & Society
ผู้คนและสังคม