เส้นทางนักการทูต
อ่านแล้ว ครั้ง

“นักการทูตมันไม่ใช่แค่อาชีพที่เราทำแต่มันคือไลฟ์สไตล์ของเราด้วย” คือนิยามอาชีพนักการทูตของ พี่อ๊อฟ–กิตติเทพ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ดาราไกลบ้านยุคบุกเบิกจากเทป ‘คนไทยใน UN’ ซึ่งปัจจุบันได้โยกย้ายมาสู่ตำแหน่งนักการทูตชำนาญการ กองอเมริกาเหนือ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ

“ปกติถ้าพูดถึงชีวิตนักการทูต คนส่วนใหญ่จะนึกภาพคนที่ออกงานสังคมบ่อยๆ จิบไวน์ มีชีวิตหรูหราแต่ความจริงแล้วตรงนั้นมันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่ง” พี่อ๊อฟเกริ่น ถ้าอย่างนั้น job description ของอาชีพนักการทูตจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ และคนแบบไหนที่จะสามารถเป็นนักการทูตได้ 

คอลัมน์ งานสอบสวน ตอนแรกจะพาพี่อ๊อฟมาให้ปากคำถึงอาชีพที่เขาหลงรัก และยังคงสนุกกับความท้าทายใหม่ๆ ที่พาให้เขาเติบโตขึ้นตลอด 13 ปีที่ผ่านมา

“งานของนักการทูตมันตั้งอยู่บนความเป็นมนุษย์ การที่เราจะได้ข้อมูลไปทำอะไรบางอย่างมันก็จะต้องสร้างขึ้นบนความสัมพันธ์ระดับบุคคล ดังนั้นงานของนักการทูตจริงๆ จึงอยู่ในบทสนทนาที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ นอกจากห้องประชุมต่างๆ ใน UN ที่เคยพาไปดูตอนไกลบ้านแล้ว มันยังมีบทสนทนาที่เกิดขึ้นตามโถงทางเดิน บันได สนามหญ้า หรือในร้านอาหารต่างๆ อีกเยอะมาก”

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่พี่อ๊อฟยังเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พี่อ๊อฟมีโอกาสได้ไปฝึกงานถึงสองครั้ง ทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศ และที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา

“ตอนนั้นเราเริ่มรู้สึกแล้วว่านักการทูตเป็นวิชาชีพที่น่าสนใจ แล้วเราเองก็เรียนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะด้วย แต่หลังเรียนจบเราก็ยังไม่ได้สอบเข้ากระทรวงในทันที แต่ไปทำงานกับองค์กรภาคเอกชน ทำงาน NGO ก่อนแล้วถึงค่อยสมัครเข้ามา” 

แต่กระบวนการสอบเข้ากระทรวงของนักการทูตนั้นก็ไม่ง่าย เพราะทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบถึง 3 ขั้นตอนคือ ข้อสอบปรนัย, ข้อสอบเขียน และการทดสอบภาคปฏิบัติที่พี่อ๊อฟเรียกว่า ‘เก็บตัวนางงาม’ เพราะใช้เวลานานถึง 3 วัน 2 คืน ในการทดสอบทักษะ public speaking การเข้าสังคม และสอบสัมภาษณ์ 

ซึ่งผู้ที่สมัครเข้ามาในกระบวนการนี้ก็ไม่ได้มีแต่นิสิตคณะรัฐศาสตร์อย่างพี่อ๊อฟ แต่ยังมีผู้คนจากหลากหลายสายอาชีพ

“การต่างประเทศเดี๋ยวนี้มันมีทุกมิติเนอะ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข ดังนั้นกระทรวงฯ ก็เลยไม่ได้กำหนดว่าคนที่จะมาสอบต้องจบเฉพาะรัฐศาสตร์เท่านั้น เราเองก็มีเพื่อนร่วมงานที่จบวิศวะการบิน หรือจบหมอด้วยเหมือนกัน ซึ่งเมื่อเรามีความหลากหลายด้านองค์ความรู้ เวลาทำงานเราก็สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านที่ตนเองถนัดได้” 

แต่เมื่อถูกบรรจุเข้ามทำงานเป็นนักการทูตแล้ว พวกเขาก็ต้องเติบโตไปบน career path เดียวกัน เร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่ก็มีหน้าที่และภารกิจร่วมกันคือการทำประโยชน์ให้ประเทศไทยในเวทีโลก

แล้ว career path ของพี่อ๊อฟ ก่อนจะได้ไปประจำที่ UN ล่ะเป็นอย่างไร?

“หน้าที่แรกของเราเริ่มจากเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะ ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบังคลาเทศ ภูฏาน และมัลดีฟ หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐฯ เรียนจบกลับมาอยู่สำนักนโยบายและแผนฯ ดูภาพรวมนโยบายการต่างประเทศของไทย จากนั้นก็ไปประจำการที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก 4 ปี

“หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง ดูแลความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ฝ่ายการเมืองที่กองอเมริกาเหนือ ส่วนแชปเตอร์ต่อไปของเราคือเดี๋ยวเดือนหน้าจะไปประจำการที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ อีก 4 ปี” 

แน่นอนว่าการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“การที่เราต้องย้ายสถานที่ประจำการทุก 4 ปี มันก็เป็นความสนุกในชีวิตที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นความท้าทายว่าเราจะทำอย่างไรให้ตัวเองยังสนุกต่อไป พร้อมกับที่ต้องปรับเข้าตัวกับสังคมใหม่ๆ อยู่ตลอดด้วย” และการปรับตัวนั้นก็คงยิ่งยากเข้าไปใหญ่เมื่อต้องรับผิดชอบบทบาทอันหลากหลายของนักการทูตไปด้วยพร้อมกัน

“จริงๆ หน้าที่ของเราก็มีตั้งแต่งานเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอาจจะนึกไม่ถึง อย่างการจองที่พัก หรือบริหารจัดการรถยนต์ประจำสำนักงาน แต่หน้าที่โดยรวมก็คือการอำนวยความสะดวกให้การประชุมแต่ละครั้งดำเนินไปอย่างราบรื่น”

คำว่า ‘อำนวยความสะดวก’ ในที่นี้ก็มีทั้งในแง่เนื้อหา การจัดทำประเด็นสนทนาให้ตัวแทนประเทศไทย เวลาไปพบกับผู้นำระดับสูงของประเทศอื่นๆ ซึ่งพี่อ๊อฟจะคอยให้ข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการหารือในครั้งนั้นๆ กับอีกส่วนคือการดูแลความเป็นอยู่โดยรวมของคณะผู้แทนจากไทย  ไล่มาตั้งแต่ที่พัก การเดินทาง อาหารการกิน และคอยอัปเดตเกี่ยวกับสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างการประท้วง เป็นต้น

“ส่วนในแง่มุมของนักการทูต เราก็ต้องดูแลประชาชนไทยในต่างประเทศด้วย อย่างการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ส่งเสริมให้ชุมชนคนไทยในต่างประเทศ และสนับสนุนชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานเทศกาล อาหารไทย หรือมวยไทย”

ได้ยินแบบนี้ หลายคนคงคิดว่านักการทูตคืองานของ extrovert นักเข้าสังคมเท่านั้น แต่พี่อ๊อฟกลับปฏิเสธ

“จริงๆ แล้วเราก็เป็น introvert เหมือนกัน แต่พอทำงานแล้วเราก็ต้องออกจากโลกของตัวเองมา เวลาที่เราต้องเจอคนใหม่ เราก็ต้องหาเรื่องพูดคุยกับเขาให้ได้ โดยที่เราเองไม่เก้อเขินและคู่สนทนาของเราเองก็ไม่เก้อเขินที่จะคุยกับเราด้วย” 

“ถ้าอย่างนั้นมีจุดที่ยากลำบากหรือไม่ชอบบ้างไหมในอาชีพนักการทูต” เราสงสัย

“บอกได้เลยว่าไม่มี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากที่เราชอบวิชาชีพนี้ในทุกมิติ เราได้เรียนรู้ ได้เดินทาง และได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา แม้ว่าจะต้องห่างจากครอบครัว แต่ขณะเดียวกันนั่นก็ทำให้ครอบครัวเราแข็งแกร่งขึ้นด้วยเหมือนกัน”

อีกไม่กี่วันหลังจากนี้ พี่อ๊อฟก็จะออกเดินทางอีกครั้ง เพื่อเริ่มต้นบทบาทใหม่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโดฮา และในอีก 4 ปีข้างหน้า เราก็คงจะได้เห็นเขาในบทบาทและสถานที่อื่นอีกครั้ง 

“เพราะวิชาชีพของเราเป็นเช่นนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมต้องปรับตัว เราอยู่ในอาชีพที่ต้องโอบรับการเปลี่ยนแปลง เปิดรับการเรียนรู้ และแสวงหาโอกาสเพื่อให้มันได้ผลดีกับตัวเอง และแน่นอน ต้องทำประโยชน์ให้ประเทศด้วย”

“ดูเหมือนว่าพี่อ๊อฟอยากอยู่กับอาชีพนักการทูตไปเรื่อยๆ จนเกษียณเลย” เราตั้งข้อสังเกต

“ก็ทั้งใช่และไม่ใช่ ณ ตอนนี้ยังสนุกกับงานที่ทำก็จริง แต่เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร มันอาจจะมีความรู้สึกอื่นๆ แทรกเข้ามาได้ แต่ด้วยความที่ตอนนี้เรายังชอบ ยังสนุก เราก็คิดว่ายังอยากจะทำต่อไปให้ดีที่สุดเท่าที่ความรู้สึกนี้ยังอยู่กับเรา” 

ไกลบ้าน EP12 คนไทยในยูเอ็น (UN Headquarters)

รับรหัสชาวช่อง

มีใบมั้ย? เธออยากเป็นชาวช่องแบบมีใบมั้ย?

รับรหัสชาวช่องแบบออฟฟิเชียลได้แล้ววันนี้
มีใบก่อน รันเลขก่อน ได้สิทธิพิเศษก่อน

เรามีสมาชิกแล้ว ... คน

เรื่องเด่นเป็นดาว

บทความที่เกี่ยวข้อง

งานสอบสวน
ไกลบ้าน